เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ให้ความรู้ระบุว่า

ขวดน้ำดื่ม ไม่ได้มีสารไดออกซิน และ เมื่อแช่แข็ง ก็ไม่ได้จะทำให้ละลายออกมาด้วย”

             มีรายการของสถานีโทรทัศน์ ได้เผยแพร่เนื้อหารายการ เตือนถึงอันตรายของการแช่แข็งขวดน้ำดื่มหรือถุงพลาสติก โดยระบุว่า “อันตราย!! อย่าแช่ขวดน้ำดื่มและถุงพลาสติกในช่องแช่แข็ง เพราะเมื่อสารพลาสติกเจอความเย็นจนเป็นน้ำแข็ง น้ำแข็งจะดูดไดออกซินออกมา เป็นสารก่อมะเร็ง” !?

ซึ่งเท่าที่ผมทราบ มันไม่จริงนะครับ ! ขวด PET ที่เราใช้ใส่น้ำดื่มแบบบรรจุขวดกันนั้น ไม่ได้มีส่วนผสมของสารอันตรายอย่าง ไดออกซิน และการแช่แข็งขวดในตู้เย็นนั้น ก็ไม่ได้จะทำให้สารไดออกซินหรือสารอันตรายอื่นๆ ละลายออกมาจากขวด (หรือ น้ำแข็งจะดูดไดออกซินออกมา อย่างที่รายการใช้คำนั้น)

เรื่องนี้ น่าจะมาจากความเชื่อตามๆ กันในโลกอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่สมัยฟอร์เวิร์ดเมล์หลอก ที่บอกว่า “ห้ามดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่ม ในรถที่จอดตากแดด จะทำให้ได้รับสารไดออกซิน ก่อมะเร็ง” จนทำเอาคนไม่กล้าดื่มน้ำกัน แม้กระทั่งน้ำแจกฟรีตามปั๊มน้ำมัน ก็ไม่กล้ารับ

ซึ่งเรืองที่เป็นฟอร์เวิร์ดเมล์มั่วดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร ! มีการอธิบายหลายครั้งจากทั้งผม นักวิชาการหลายๆ คน และจากสถาบันพลาสติก จนกระทั่งมีการทดสอบวิเคราะห์ และแถลงจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2557 ว่า ขวดน้ำดื่มตากแดด ไม่ได้จะเป็นอันตรายอย่างที่กล่าวกัน กล่าวคือ ไม่พบสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงไม่พบสารพิษไดออกซิน (Dioxins) สาร Bisphenol A (BPA) หรือสาร PCB (Polychlorinated biphenyl) ในขวดน้ำที่ถูกทิ้งไว้ในรถอุณหภูมิสูงแต่อย่างใดนั้น

ซึ่งทางอธิบดีกรมวิทย์ฯ (ในขณะนั้น) ได้สรุปไว้ว่า “ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้”

นั่นก็ตรงกับความรู้พื้นฐานเรื่องพลาสติก ที่การแช่แข็งขวดน้ำพลาสติกไม่ได้ทำให้ขวดน้ำปล่อยสารเคมีออกมา ในทางกลับกัน น่าจะช่วยชะลอและป้องกันการปล่อยสารเคมีออกมาอีกด้วย (ตามหลักปฏิกิริยาเคมีทั่วไป เนื่องจากความร้อนที่ลดลงในขวด)

ดูความรู้เกี่ยวกับสารไดออกซิน และรายละเอียดคำชี้แจงของกรมวิทย์ ฯ ดังด้านล่างนี้

ปล. ในต่างประเทศ ก็เคยมีการดีบังค์ แก้ข่าวปลอมเรื่องที่ “ห้ามแช่แข็งขวดน้ำ” กันมาแล้ว  โดยเอฟดีเอ องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างต่างๆ ว่าจะมีสารเคมีจากพลาสติกแพร่ออกมาสู่อาหารให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และบอกว่าไม่มีหลักฐานว่าขวดพลาสติกหรือภาชนะพลาสติกต่างๆ จะมีสารไดออกซิน

———————–

“สารไดออกซิน (Dioxins)”

สารไดออกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารเคมีจำพวกอโรมาติกที่มีคลอไรด์เป็นองค์ประกอบเท่านั้น ซึ่งเป็นการเผาไหม้ที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าเผาที่อุณหภูมิสูงหรือน้อยกว่านั้น ก็จะไม่เกิดสารพิษชนิดนี้ และสารพิษชนิดนี้ไม่มีที่ใช้ในอุตสาหกรรมใดๆ ในปัจจุบัน ดังนั้นการเกิดสารพิษชนิดนี้จึงไม่ได้เกิดจากการปนเปื้อนในกระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมใดๆ

ตัวอย่างการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ที่มักจะเกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน เนื่องจากภายในบ้านมีสายไฟที่ทำจากพลาสติกประเภท PVC ที่มีสารอโรมาติกส์คลอไรท์เป็นองค์ประกอบอาจทำให้เกิดสารไดออกซิน (Dioxins) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำจากพลาสติกไม่ติดไฟอย่าง โทรทัศน์หรือโทรศัพท์ หากเกิดการเผาไหม้ก็สามารถเกิดสารพิษชนิดนี้ได้

ซึ่งสารที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน คือ สารกลุ่มโพลี คลอริเนตเตท ไดเบนโซพารา ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs)

——————-

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันไม่เคยมีรายงานการตรวจพบสารไดออกซินในขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม”

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสังคมออนไลน์เตือนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่เก็บในหลังรถยนต์ และจอดกลางแดด โดยมีโอกาสได้รับสารไดออกซินที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติก เนื่องจากอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอื่นๆ ได้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัวถึงอันตรายจากการดื่มน้ำบรรจุ ขวดพลาสติก ในเรื่องนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งมีภารกิจ ในการวิเคราะห์ วิจัยทางด้านไดออกซิน น้ำดื่ม และวัสดุสัมผัสอาหาร ขอชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคดังนี้ สารไดออกซิน (Dioxins) เป็นชื่อกลุ่มสารที่มีโครงสร้างและสมบัติทางเคมีใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย สารกลุ่มโพลี คลอริเนตเตท ไดเบนโซพารา ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) สารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และสารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล ที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs) ซึ่งกลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว และสารแต่ละตัวจะมีค่าความเป็นพิษแตกต่างกัน โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือว่าสาร 2,3,7,8–Tetrachlorodibenzo-para-dioxin (2,3,7,8-TCDD) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงสุด

สารไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แหล่งกำเนิดสำคัญของสารกลุ่มนี้คือกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น การสร้างกลุ่มสาร ไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้

นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า กระแสข่าวเรื่องไดออกซินละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำดื่มเมื่อวางไว้ในที่ร้อนๆ เช่น หลังรถยนต์นั้น เป็นเหมือนเรื่องเล่าต่อๆ กันมาโดยปราศจากแหล่งข้อมูลที่แน่ชัด ความจริงที่สืบค้นจากข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ในวารสารที่มีการพิจารณาตรวจแก้จากผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ว่า ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่างๆที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง แล้วทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสารไดออกซินนั้นไม่มีหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้ ความจริงคือขวดพลาสติกขนาดเล็ก ปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิด PE (พอลิเอทิลีน) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิด PET (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต)ซึ่งนิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น สำหรับขวดบรรจุน้ำ ชนิดเติม ซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20 ลิตรมี 3 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติก ชนิด PP (พอลิพรอพิลีน) ขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน ทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) และขวดพลาสติกชนิด PET พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีน เป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะท้าให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค

ด้วยเหตุนี้ห้องปฏิบัติการไดออกซิน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงทำการทดลองโดยซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน พอลิคาร์บอเนต และพอลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง ขอแนะนำผู้บริโภคควรพิจารณาแหล่งของข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และตรวจสอบที่มาด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ

ข้อมูลเรื่องขวดน้ำดื่มตากแดด (ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)

อ่านข้อมูลเต็มๆที่  :  https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/photos/a.220998438383217/1334683307014719/?type=3