อันตรายจากการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล มีอะไรบ้าง ข้อสงสัยทั้งหมดได้ถูกนำมารวบรวมในบทความนี้
1. การใช้ขวดน้ำพลาสติกใส (ขวด PET) มาใช้บรรรจุน้ำหรืออาหารอื่น ๆ ซ้ำมีอันตรายจากสารเคมีจริงหรือไม่
ตอบ อันตรายจากสารเคมี ซึ่งอ้างว่าเป็นสารก่อมะเร็งนั้นไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด มีการศึกษา สารเคมีต่าง ๆ ที่ละลายออกมาจากขวด PET ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากล และค่อนข้างเป็นที่ยอมรับว่าสามารถนำมาใช้บรรจุซ้ำได้อย่างปลอดภัยจากสารเคมี การใช้ขวดน้ำพลาสติกมาบรรจุน้ำซ้ำ ๆ อาจจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค และสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่มากกว่า ถ้าล้างทำความสะอาดขวดไม่ดีพอ ก่อนที่จะบรรจุซ้ำใหม่
2. สารเคมีที่อาจละลายออกมาจากขวดคือสารอะไร มีพิษภัยอย่างไร
ตอบ สารเคมีที่พบคือสาร Bisphenol A (BPA) ซึ่งเป็นสารที่นำมาใช้ปรับปรุงคุณสมบัติพลาสติก ส่วนมากพบได้ในพลาสติกโพลี่คาร์บอเนต (PC) และพลาสติกชนิดอื่นๆที่มีโค๊ดรีไซเคิลหมายเลข 7 BPA จะส่งผลกระทบต่อร่างกายต่อระบบฮอร์โมน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และมีส่วนในการเกิดมะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งต่อมลูกหมากได้ถ้าได้รับในปริมาณที่เพียงพอ
โดยทั่วไปแล้วสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกเพื่อห่อหุ้มหรือสัมผัสอาหาร ซึ่งรวมทั้งสาร BPA มีการควบคุมทางกฎหมาย โดยประเทศต่าง ๆ จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป แต่จะมีจุดมุ่งหมายที่ใกล้เคียงกัน คือ ควบคุมการใช้ในขบวนการผลิต และทดสอบการละลายออกมาของสารเคมีให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการนำไปใช้งาน ดังนั้น ถ้าผู้ใช้ใช้ขวดพลาสติกโดยถูกต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการผลิต ก็แน่ใจได้ว่ามีความปลอดภัย
ขวด PET ที่ใช้บรรจุน้ำหรือเครื่องดื่ม ทั้งชนิดใช้ครั้งเดียวหรือใช้ซ้ำจะทำจาก PET Resin เกรดเดียวกันซึ่งไม่มีสาร BPA ผสม แตกต่างกันที่ขวดที่ใช้ซ้ำจะมีความหนาขอบผนังขวดมากกว่าชนิดใช้ครั้งเดียว ทั้งนี้เพื่อความแข็งแรงและทนทานและต้องออกแบบให้สะดวกต่อการทำความสะอาด ส่วนขวดใช้ครั้งเดียวผนังขวดจะบางกว่าเพื่อการประหยัดวัตถุดิบ
3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการละลายของสารเคมีจากภาชนะพลาสติกมีอะไรบ้าง
ตอบ
1. อุณหภูมิ, ระยะเวลาและชนิดของอาหารที่สัมผัสอยู่กับภาชนะ หากอุณหภูมิสุงขึ้นและระยะเวลาการเก็บนานขึ้น หรืออาหารที่มีความเป็นกรดจะมีผลให้การละลายของสารเคมีออกมาจากภาชนะมากขึ้น
2. คุณภาพของขวดหรือภาชนะ ซึ่งผู้ผลิตจะต้องควบคุมขบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดในกฎหมายของแต่ละประเทศ จากผลจากการตรวจวิเคราะห์ ขวด PET ที่ผลิตใหม่ซึ่งผู้ผลิตมากกว่า 10 บริษัท นำส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรับรองคุณภาพความปลอดภัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยทำการทดสอบที่อุณหภูมิ 60 และ 95 องศาเซลเซียส ตามอุณหภูมิที่ใช้งานของภาชนะที่ต้องการทดสอบพบว่าได้มาตรฐานทุกตัวอย่าง
4. หากใช้ไปนานๆ เราจะมีวิธีสังเกตลักษณะขวดที่ไม่ควรใช้อย่างไร
ตอบ ขวดพลาสติกเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเพียงครั้งเดียว แต่ก็สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ โดยต้องล้างให้สะอาด และทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตาม หากใช้ไปนาน ๆ แล้วต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขวด เช่น สีเปลี่ยนไป มีความขุ่นมากขึ้น มีรอยขีดข่วนมาก หรือ เปราะ ปริ แตก ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีกเพราะพลาสติกที่ใช้ทำขวดเริ่มเสียสภาพแล้ว
5. ประชาชนสามารถใช้อะไรทดแทน หรือมีวิธีการใดทดแทนการใช้ขวดพลาสติก
ตอบ ประชาชนสามารถใช้ขวดแก้วแทนได้ แต่จะต้องล้างทำความสะอาดให้สะอาดก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง
หมายเหตุ : ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 295 เรื่อง ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ห้ามนำพลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นภาชนะ
เอกสารอ้างอิง
1. Food Standard Australia New Zealand , FSANZ finds plastic drink bottle not a safey risk.
(http://www.foodstandards.gov.au)
2. Food and Drug Administration (US). Plastics and Microwave.
(http;//www.cfsan.fda.gov/dms/fdacplas.html)
3. Statement by the Australasian Bottled Water Institute Inc and the Australian Soft Drinks
Association Ltd. Pet & Polycarbonate bottles
(http://www.softdrink.org.au/lib/PetBottle2.pdf)
4. Plastic and Chemicals Industries Association Inc. PET bottles safe for drinking water.
(http://www.pacia.com.au/Media/index frames7.html)
5. Plastic Federation of South Africa. The re-used of PET water bottles.
(http://www.plasticinfo.co.za)
6. WHO Guidelines for Drinking-Water Quality-3rd edition. 8.7 Categories of Chemicals
(http://www.who.int)
7. International Agency for Research on Cancer (LARC) -Summarries & Evaluations
D(2-ethyhexyl) adipate (Group 3)
(http://www.inchem.org/documents/iarc/vol77/77-02.html)
8. Dr.M. Kohler et.al. Migration of organic components from polyethylene terephthalate (PET)
bottles to water, Report 429670 , June 2003. Swiss Federal Laboratories for Materials Testing
and Research.
9.ประเด็นสัมภาษณ์เรื่อง อันตรายจากการใช้ขวดพลาสติกใส รีไซเคิล นพ. มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
วันที่ 26 มีนาคม 2551 เวลา 13.30 น. (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์)
10.www.ohnadousashop.com/ บทความ สาร BPA คืออะไร
11.www.wikipedia.com
Leave A Comment